นวนิยายเรื่อง
If on a Winter’s Night
a Traveler (หากว่าคืนหนึ่งในฤดูหนาวมีนักเดินทางคนหนึ่ง)
(1979) ของ อิตาโล
กัลวีโน น่าจะเป็น ตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นลักษณะของนวนิยายหลังสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วย“ลูกเล่น”
หรือ “กลเม็ด” หลากหลายที่เป็นการล้อเลียนขนบการเขียนด้วย
|
นวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องของนักอ่านผู้ชายที่ผู้เล่าเรื่องเรียกว่า
“คุณ” (You) ที่เปิดหนังสือชื่อเรื่อง If on a
Winter’s Night a Traveler ของ อิตาโล กัลวีโนออกอ่าน
เมื่อเขาอ่านเรื่องนี้ไปได้สักสามสิบหน้าก็พบว่ามีหน้าซ้ำกัน
เขาจึงไปแจ้งที่ร้านหนังสือ ที่นั่นคนขายหนังสือบอกว่าเกิดการพิมพ์ผิดพลาด
และหนังสือที่เขาอ่านนั้นไม่ใช่เรื่อง If on a
Winter’s Night a Traveler ของ อิตาโล กัลวีโน
แต่เป็นหนังสือของนักเขียนชาวโปแลนด์ ชื่อเรื่อง
Outside the Town of Malbork |
เมื่อคนขายจะเปลี่ยนหนังสือให้
ความที่เขาติดใจเรื่องของนักเขียนโปแลนด์เขาจึงยืนยันที่จะอ่านเล่มนี้
ที่ร้านเขาได้ทำความรู้จักกับคนอ่าน ชื่อลุดมิลลาที่ประสบปัญหาแบบเดียวกันจึงขอเบอร์โทรศัพท์เธอไว้
แต่เมื่อเขากลับนำหนังสือนั้นกลับไปอ่านก็พบว่ามีปัญหาการพิมพ์อีก
เขาจึงโทรศัพท์ ไปบอกลุดมิลลาว่าอยากรู้เรื่องต่อเกี่ยวกับตัวละครที่อ่าน
แต่พบว่าเรื่องที่อ่านไม่ใช่เรื่องที่เขาคิดอีกครั้ง
ลุดมิลลาพาเขาไปพบศาสตราจารย์ที่อาจให้ยืมหนังสือที่เขาต้องการแต่เมื่อได้อ่านหนึ่งบท
มันกลับเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่ง |
เขาพยายามตามหาหนังสือที่ต้องการ
และเมื่อเขาได้หนังสือใหม่และอ่านได้หนึ่งบท การณ์กลับเป็นว่าเป็นหนังสือเล่มอื่นเสียทุกครั้ง
สรุปแล้วเขาได้อ่าน(หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า “เรา”
คนอ่านได้อ่าน) หนังสือรวม 10 เล่ม หากแต่ละเล่มได้อ่านเพียงบทเดียว |
นวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องการตามหาหนังสือของผู้อ่านผู้ชายคนนี้
ทั้งเรื่องมีอยู่ 12 บท แต่ละบทเริ่มต้นด้วยการที่ผู้เล่าเรื่องสื่อสารกับ“คุณ”ที่เป็นผู้อ่านเกี่ยวกับการอ่านและการตามหาหนังสือ
ตามด้วยบทแรกของนวนิยาย |
ยกตัวอย่างเช่น นวนิยายเรื่องแรกเป็นเรื่องของชายที่อาจเป็นสายลับขององค์การหนึ่งที่ถูกสั่งให้นำกระเป๋ามาให้คนๆ
หนึ่งที่ร้านขายเครื่องดื่มในสถานีรถไฟ เขาจะรู้ว่าชายคนที่จะมาพบเขาเป็นใครก็ด้วยรหัส
ที่ร้านเขาพบคนหลายคนที่ทำให้เขาคิดไปว่าน่าจะเป็นสายลับหรือไม่
ตอนท้ายเรื่องมีตำรวจเดินมา ซึ่งทำให้เขาเข้าใจว่าแผนรั่วไหลและเขากำลังจะถูกจับ
การณ์กลายเป็นว่าตำรวจเป็นสายลับที่มาบอกว่าแผนล้มและเขาต้องหนีไปให้เร็วที่สุด |
เรื่อง
“ก้มมองรูปเงา” เป็นเรื่องราวของ “ผม” ที่ได้รับความร่วมมือจากผู้หญิงที่ชื่อ
“เบอร์นาเด็ต” พยายามนำศพของชายที่ชื่อ “โจโจ”
ไปทิ้ง ทั้งสองผจญกับอุปสรรคต่างๆ เช่น ขณะที่นำศพใส่ถุงพลาสติกลงจากห้องพักทางลิฟต์ก็ไปพบคนรู้จักที่พยายามจะเปิดถุงดู
หรือเมื่อเปลี่ยนแผนประคองศพจะไปทิ้งแม่น้ำก็มีตำรวจเดินมาพอดี
ทำให้ต้องแกล้งทำเป็นว่าศพนั้นเป็นเพื่อนที่เมามากจนทรงตัวไม่อยู่
|
เรื่อง
“บนพรมใบไม้กระจ่างด้วยแสงจันทร์” เป็นเรื่องอีโรติกญี่ปุ่น
นักศึกษาที่มาฝึกวิชาในบ้านของครูมีใจกับลูกสาวของครู
แต่กลับถูกภรรยาของครูยั่วยวนจนมีความสัมพันธ์กันโดยที่ทั้งลูกสาวและตัวครูเองบังเอิญได้มาพบ |
นวนิยายแต่ละเรื่องนั้นอ่านสนุกทั้งสิ้น
ปัญหาก็คือ เรา ผู้อ่านตัวจริงถูกดึงเข้าไปในเรื่องเล่าแต่ละเรื่องเพียงหนึ่งบท
แล้วถูกทอดทิ้งและผลักเข้าไปในนวนิยายเรื่องใหม่เรื่องแล้วเรื่องเล่า
โดยที่แต่ละเรื่องที่อ่านไม่มีตอนจบ ผู้อ่านตัวจริงจะมีความรู้สึกเหมือนวนอยู่ในเขาวงกตหาทางออกไม่ได้เช่นเดียวกับ
“ผู้อ่าน” ในเรื่อง |
สิ่งที่กัลวีโนทำนั้นอาจกล่าวได้ว่าคือ
เขาเขียนเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า ที่ประหลาดก็คือ
มันไม่ใช่เรื่องซ้อนเรื่องแบบธรรมดา เพราะว่าเขากล้าที่จะเขียนเรื่องเล่าทั้ง
10 เรื่องแค่บทเดียวเท่านั้น |
กัลวีโนซ่อนลูกเล่นหรืออาจเรียกได้ว่ากลเม็ดไว้ตั้งแต่ต้นจนจบ
ตอนท้ายเรื่อง “คุณ” ที่เป็นผู้อ่านจดชื่อนวนิยายที่เขาอ่าน
10 เรื่องเพื่อไปหาอ่านที่ห้องสมุดดังนี้ “หากว่าคืนหนึ่งในฤดูหนาวมีนักเดินทางคนหนึ่ง,
นอกเมืองมัลบอร์ก, ชะโงกดูจากลาดเขาสูงชัน, ไร้ความกลัวลมหรือความวิงเวียน,
ก้มมองรูปเงา, ในเครือข่ายเส้นสายที่ขดพัน, ในเครือข่ายเส้นสายที่ตัดกัน,
บนพรมใบไม้กระจ่างด้วยแสงจันทร์, รอบสุสานว่างเปล่า,
เรื่องราวอะไรที่นั่นที่รอจุดจบ?” (If on a winter’s
night a traveler, outside the town of Malbork,
leaning from the steep slope, without fear of
wind or vertigo, looks down in the gathering
shadow, in a network of lines that enlace, in
a network of lines that intersect, on the carpet
of leaves illuminated by the moon, around an
empty grave, what story down there awaits its
end?) ปรากฏว่ามีคนในห้องสมุดเข้าใจว่าข้อความทั้งหมดเป็นตอนต้นของนวนิยายเรื่องหนึ่ง
แถมยังบอกว่าดูเหมือนจะเคยอ่านแล้วด้วย |
ท้ายบทที่
11 คนในห้องสมุดกล่าวล้อเลียนเรื่องเล่าต่างๆ
ว่า มีอยู่สองแบบ คือ เรื่องที่พระเอกนางเอกแต่งงานกัน
กับเรื่องที่พระเอกนางเอกตาย นั่นคือเป็นการล้อเลียนการที่ทั้งผู้เขียนและผู้อ่านทั่วไปคาดหวังว่าเรื่องทุกเรื่องต้องมีตอนจบ
ในบทที่ 12 ซึ่งเป็นบทสุดท้ายนั้นสั้นมาก เราพบว่า
นักอ่านทั้งสองคนคือ “คุณ” และลุดมิลลาได้แต่งงานกัน
เธอชวนเขาให้เลิกอ่านหนังสือและเข้านอน เขาบอกเธอว่าสักครู่
เพราะเขาจวนจะอ่านเรื่อง If on a winter’s night
a traveler ของอิตาโล กัลวีโนจบอยู่แล้ว |
ลูกเล่นของกัลวีโนตอนนี้ก็คือ
การที่ผู้อ่านในเรื่องกับผู้อ่านตัวจริงได้อ่านเรื่อง
If on a winter’s night a traveler จบพร้อมกัน |
นวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นการเน้นเรื่องการอ่านและผู้อ่าน
รวมทั้งทำให้เราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า “ทำไมเราจึงอ่าน?”
เพราะแต่ละบทดึงเราไปสู่ตอนต้นของนวนิยายแต่ละเรื่อง
เราอ่านด้วยความอยากรู้อยากเห็น แต่แล้วเรากลับได้อ่านเพียงบทเดียว
|
แรกๆ
เรารู้สึกสนุกกับลูกเล่นของผู้เขียน แต่หลังจากที่ได้อ่านเรื่องแบบขาดๆ
วิ่นๆ หลายเรื่องเข้าจนจับทางผู้เขียนได้แล้ว
น่าแปลกที่เราก็ยังทนอ่านต่อไป |
ก็คงเป็นเพราะความอยากรู้อยากเห็นอีกนั่นแหละ
เพราะถึงยังไงเราก็ยังอยากรู้ว่าผู้เขียนจะจบอย่างไรอยู่ดี |
ตัวละครหลักของเรื่องถูกเรียกว่า
“ผู้อ่าน” (The Reader) หรือ “คุณ” (You) ส่วนลุดมิลลาถูกเรียกว่า
“ผู้อ่านอีกคนหนึ่ง” (The Other Reader) (และในเรื่องมีตัวละครที่เรียก
Non Reader เพราะไม่อ่านหนังสือ) กัลวีโนต้องการถามว่าผู้อ่านต้องการอะไรเมื่อเปิดหนังสือ
และดึงผู้อ่านเข้าไปในเรื่องโดยใช้สรรพนามบุรุษที่สอง
“คุณ” |
กัลวีโนมุ่งความสนใจไปที่ประเด็นผู้อ่านและการอ่านตั้งแต่ต้นเรื่อง
ตั้งแต่เหตุผลในการเลือกหนังสืออ่านเรื่องหนึ่ง
ลักษณะท่าทางที่อ่าน และความคาดหวังต่างๆ เขาเขียนว่า
“คุณเปิดหนังสือหน้าหนึ่ง,ไม่ใช่,
เปิดหน้าสุดท้าย ทีแรกเลยคุณต้องการดูว่า
หนังสือยาวขนาดไหน โชคดีที่ไม่ยาวมาก
นวนิยายที่เขียนยาวๆ ทุกวันนี้ด
ูเหมือนจะขัดแย้งกับสภาพปัจจุบัน นั่นคือ
มิติของเวลาได้แตกสลายไปแล้ว
เรารักหรือคิดอย่างขาดช่วง และแต่ละช่วงก็พุ่งออกไปคนละทิศคนละทาง
และ หายไป เราจะพบเวลาที่ต่อเนื่องกันก็ในเฉพาะในนวนิยายในยุคที่เวลา
ดูเหมือนว่าจะไม่เคยหยุด และยังไม่ระเบิด
ยุคที่ยืนยาวไม่มากไปกว่าหนึ่งร้อยปี”
|
|
กัลวีโนได้กล่าวถึงเรื่องของเวลา
โดยชี้ให้เห็นว่าเวลาของคนในอดีตและปัจจุบันแตกต่างกัน
เวลาในอดีตมีความต่อเนื่องและเป็นไปตามลำดับ ขณะที่ในปัจจุบันเวลาได้แตกเป็นส่วนเสี้ยว
ซึ่งอาจตีความได้ว่า คนในปัจจุบันไม่มีเวลามากพอที่จะอ่านนวนิยายยาวๆ
จึงเปรียบเทียบว่าเวลามีหนทางของมันเองและหายไปเฉยๆ
เป็นการหวนหาอดีตของยุคสมัยที่เรื่องเล่ามีขนาดยาวและมีความต่อเนื่อง
เพราะเวลาที่เรามีในอดีตนั้นมากพอที่ทำให้เราสามารถซึบซับเรื่องเล่าขนาดยาวได้ |
การที่ผู้อ่านถูกดึงเข้าไปมีบทบาทในเรื่องและยังถูกเตือนให้ตระหนักตลอดเวลาว่ากำลังอ่านอยู่
ดังนั้นเรื่องจึงมีลักษณะเมตาฟิกชัน
(metafiction) |
เมตาฟิกชันเป็นเรื่องเล่าที่เปิดเผยให้เห็นถึงกระบวนการของการเล่าเรื่อง
ดังนั้น ในแง่หนึ่ง เรื่องเล่าถูกขัดจังหวะด้วย
“การป้องปาก” ของผู้เล่าเรื่องหรือผู้เขียน ในอีกแง่หนึ่งเมตาฟิกชันเป็นงานเขียนที่นักเขียนหลังสมัยใหม่ใช้เพื่อให้ผู้อ่านตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่ากำลังอ่านงานเขียน
ที่นักเขียนกำลังสร้างสรรค์ต่อหน้าต่อตาคนอ่าน
ดังนั้นในงานเช่นนี้จึงปรากฏการสังสรรค์ระหว่างผู้เขียน/ผู้เล่าเรื่องกับคนอ่านตลอดเวลา |
นอกจากนี้
แนวการเขียนแบบเมตาฟิกชัน แสดงให้เห็นว่า หน้าที่ของนักเขียนคือการ
“สร้างโลก” จากภาษา แทนที่จะเป็นการ “สะท้อนโลก”
ดังนั้นบันเทิงคดีไม่ใช่การเลียนแบบโลกหรือสะท้อนสังคม
แต่เป็นการสร้างโลกของมันเอง |
ยกตัวอย่างเช่น
เมื่อเล่าถึงตัวละครหญิงตัวหนึ่งที่กำลังสนทนาอยู่กับ
“คุณ” นั้น จู่ๆ ก็แทรกด้วยข้อความต่อไปนี้ |
“ความสนใจของคุณในฐานะผู้อ่านพุ่งไปที่ผู้หญิงคนนั้น
คุณอ่านเรื่องของเธอมาหลายหน้าแล้ว ผม---ไม่ใช่,
ผู้เขียน- ได้เขียนวนเวียนเกี่ยวกับการปรากฏตัวของผู้หญิงหลายหน้ามานี้คุณคาดว่าเงาของผู้หญิงคนนี้จะก่อเป็นรูปร่างแบบเดียวกับที่เงาของผู้หญิง
จะก่อร่างบนหน้ากระดาษ และความคาดหวังของคุณนั่นเอง,ท่านผู้อ่าน,
ที่ทำให้ผู้เขียนเขียนเกี่ยวกับเธอ” |
|
ข้อความไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นลักษณะเมตาฟิกชันที่เตือนผู้อ่านว่ากำลังอ่านหนังสืออยู่
แต่ยังมีลักษณะที่เรียกว่า การลัดวงจร
(short circuit) ซึ่งก็คือการที่ผู้เล่าเรื่องในนวนิยายดึงผู้เขียนเข้าไปในเรื่อง |
ทฤษฎีการเขียนบันเทิงคดีในยุคที่มีลักษณะที่เน้นความเป็นเหตุผลมีการแยกอย่างชัดเจนระหว่างโลก
“ที่เป็นจริง” กับ ”โลกบันเทิงคดี” ผู้เขียนและผู้เล่าเรื่องจะต้องแยกออกอย่างเด็ดขาด
ผู้เขียนเป็นผู้สร้างสรรค์งานที่อยู่ในโลกของความเป็นจริง
ส่วนผู้เล่าเรื่องเป็น “เทคนิค” ที่เขาเลือกใช้โดยตั้งอยู่บนเหตุผลที่ว่า
เรื่องเล่าต้องผ่านสายตาของคนๆ หนึ่งเสมอ ซึ่งคนๆ
นี้จะเป็นใครก็ได้ อยู่ในเรื่อง(คือเป็นตัวละครในเรื่อง)
หรืออยู่นอกเรื่อง(เป็นเสมือนพระเจ้าหรือเป็นตาของกล้อง)ก็ได้
แต่โลกทั้งสองนี้ต้องไม่ซ้อนทับกัน ทั้งหมดนี้เกิดจากวิธีคิดเชิงเหตุผลที่ว่า
แม้ว่าเรื่องเล่าเป็นงานสร้างสรรค์คือไม่ได้เกิดขึ้นจริง
แต่ต้องทำให้ดู “เสมือนจริง” |
แต่ที่น่าสนใจที่สุดก็คือข้อความที่ว่า
“และความคาดหวังของคุณนั่นเอง, ท่านผู้อ่าน, ที่ทำให้ผู้เขียนเขียนเกี่ยวกับเธอ” |
ตรงนี้กัลวีโนได้ให้ข้อคิดเชิงขัดแย้งในตัวเองที่น่าสนใจอย่างยิ่งในประเด็นที่เสนอวา
ที่จริงแล้วผู้เขียนไม่ใช่ผู้ที่สร้างสรรค์วรรณกรรม
แต่ความคาดหวังของผู้อ่านต่างหากที่ผลักดันให้นักเขียนสร้างสรรค์เรื่องหนึ่งๆ
ขึ้นมา |
นอกจากผู้อ่านและการอ่านแล้ว
กัลวีโนยังกล่าวถึงนักเขียนและการเขียนหนังสือ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทที่ 8 ซึ่งเป็นบันทึกของนักเขียนนวนิยายหนึ่งใน
10 เรื่องที่ “คุณ” ได้อ่าน เป็นบันทึกเกี่ยวกับความยากลำบากของการเขียนหนังสือในปัจจุบันที่ดูเหมือนว่า
ไม่ว่านักเขียนจะสร้างสรรค์เรื่องใดก็ดูราวกับว่ามีคนเขียนถึงเรื่องนั้นๆ
มาแล้วทั้งสิ้น บทนี้จึงเป็นความพยายามของนักเขียนคนนี้ในการสร้างโครงเรื่องนวนิยายขึ้นมาเรื่องหนึ่ง
จากนั้นก็เปลี่ยนเหตุการณ์หรือตัวละครสลับไปมา
ก็จะได้โครงเรื่องนวนิยายอีกหลายเรื่อง หรือกล่าวถึงภาวะที่เขียนเรื่องไม่ออก
ก็เลยหาแรงบันดาลใจโดยการลอกนวนิยายเรื่อง Crime
and Punishment ของดอสโตเยฟสกีหนึ่งประโยค แต่เสน่ห์ของเรื่อง(และการที่หาเรื่องเขียนไม่ได้)ทำให้เขาลอกไปหลายหน้าจนในที่สุดต้องหักห้ามใจตัวเองไม่ให้ลอกงานของคนอื่น |
มีตัวอย่างของเรื่องการอ่านและการเขียนที่เป็นประเด็นที่แทรกอยู่ตลอดเรื่องที่น่าสนใจคือตอนที่ตัวละครตัวหนึ่งกล่าวถึงเรื่องที่เขาต้องการอ่านว่า
“นวนิยายที่ฉันอยากอ่านที่สุดในเวลานี้ควรมีพลังผลักดันแต่เพียงประการเดียว
นั่นก็คือความปรารถนาที่จะเล่าเรื่อง มีการเขียนเรื่องซ้อนเรื่อง
โดยที่ไม่พยายามที่จะยัดเยียดปรัชญาชีวิตให้เราอ่าน
แค่เพียงทำให้เราสังเกตดูความเจริญเติบโตของนวนิยายนั้น
ที่เหมือนกับต้นไม้...” |
ส่วนในบทอื่นก็มีความคิดของนักเขียน(ที่อาจรวมถึงการเขียนนวนิยายเรื่องนี้ของกัลวีโนเองก็ได้)ดังนี้
“ผมกำลังเขียนเรื่องหลายเรื่องเกินไปในเวลาเดียวกัน
เพราะสิ่งที่ผมต้องการคือให้คุณรู้สึกว่า สิ่งที่แวดล้อมเรื่องนี้คือการแตกแขนงของเรื่องอื่นๆ
ที่ผมสามารถจะเล่าได้หรืออาจจะเล่า หรือบางทีอาจจะมีคนเล่าไปก่อนแล้วในที่อื่นๆ
ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราว...ซึ่งเป็นที่ที่คุณสามารถเคลื่อนที่ไปได้ทุกทิศทุกทาง
เช่นเดียวกับในอวกาศ...” |
นวนิยายของกัลวีโนเรื่องนี้เต็มไปด้วยลูกเล่นตลอดเรื่อง
แม้ว่าเราจะจับทางคนเขียนได้แล้วก็ตาม เราก็ยังเพลิดเพลินกับ
“มุข” ที่เขาค่อยๆ ปล่อยออกมาตลอดเรื่อง ตลอดจนถึงความคิดเห็นต่อการอ่านและการเขียนที่ไม่ได้เป็นเรื่องลึกซึ้งอะไรแต่มีเสน่ห์อย่างยิ่ง
ซัลมาน รัชดี นักเขียนชื่อดังกล่าวถึงนวนิยายเรื่องนี้ว่า
“การอ่านเรื่องของกัลวีโน คุณจะรู้สึกว่าเขากำลังเขียนเรื่องที่คุณรู้อยู่แล้ว
เว้นแต่ว่าคุณยังไม่เคยคิดถึงมันมาก่อน” |
นวนิยายเรื่องนี้กวนประสาทผู้อ่านอย่างมาก
แต่ถึงกระนั้นเราก็ยังอดหัวเราะกับลูกบ้าของเขาไม่ได้
ขนาดหลวมตัวอ่านเรื่องขาดๆ วิ่นๆ ไปจนจบเรื่องเลยละ.
|
ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์
ปีที่ 24 ฉ. 1234 (9 - 15 เมษายน 2547 |
|